MY JOURNAL
Date: 13/12/2014
8th Journal
วันนี้เป็นวันเสาร์ อาจารย์นัดมาพบกันเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับต้นแบบของโครงการที่จะนำเสนอ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ที่สำคัญคือต้องแก้ตรงจุดประสงค์และแผนงานให้สะท้อนถึงเทคโนโลยีและเทคนิคที่ต้องการนำเสนอ อาจารย์ได้ให้เว็บไซต์มาเพื่อให้เข้าไปศึกษาด้วยตัวเองว่าจะเลือกใช้วิธีใด
ในตอนแรกงานที่ส่งไประบุไปเพียงว่าเป็นการสอนแบบ collaborative learning แต่ไม่ได้เลือกเทคนิค เมื่อไปศึกษาในรายละเอียดจึงได้ตัดสินใจเลือกเทคนิคจิ๊กซอว์ ซึ่งก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าเมื่อเลือกเทคนิคได้แล้ว จะออกแบบกิจกรรมได้สอดคล้องกับสิ่งต่างๆ ที่เลือกไว้หรือไม่
ปวีณัย บุญปก 5717650043

Date: 19/10/2014
7th Journal
และแล้วก็มาถึงสัปดาห์สุดท้ายของการเรียนการสอนในรายวิชานี้ การเรียนในห้องกำลังจะสิ้นสุดลงแต่ยังคงต้องดำเนินการเรื่อง final project ที่ต้องนำเสนอในเดือนธันวาคม
สัปดาห์นี้อาจารย์ให้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในช่วงเช้าให้พวกเราช่วยกันศึกษางานของเพื่อนๆ ที่ได้เขียนแผนการจัดการเรียนรู้ส่งอาจารย์ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อพิจารณาและอภิปรายร่วมกันว่ารูปแบบหรือลักษณะงานของแต่ละคนมีจุดดีอะไร หรือควรปรับปรุงเพิ่มเติมตรงไหนบ้าง จากงานของตัวเองนั้น มีข้อดีคือได้ระบุลงไปว่างานชิ้นนี้เป็นสื่อหลักที่มีครูอยู่ร่วมด้วย เพราะการที่ระบุเช่นนี้จะส่งผลต่อการออกแบบกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น นั่นคือ ถ้ามีครูกิจกรรมจะต้องแตกต่างจากแบบที่ไม่ครูผู้เรียนต้องสามารถศึกษาองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง แต่ก็ยังมีจุดบกพร่องในด้านอื่นๆที่ต้องปรับปรุงให้มีความชัดเจนขึ้น เช่นต้องออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับนวัตกรรมที่เลือกมาสอน ในขณะที่งานของคนอื่นๆก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและรายวิชา รวมถึงประสบการณ์การเขียนของแต่ละคนด้วย จากคำแนะนำของอาจารย์ที่ชี้ให้เห็นในประเด็นต่างๆในงานของเพื่อนแต่ละคนทำให้ตระหนักมากขึ้นว่า การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความละเอียดและรอบคอบมาก เพราะต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหา รายวิชา ระดับชั้นของผู้เรียน หลักสูตร ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดกิจกรรม การวัดและประเมินผล
ในช่วงบ่ายเป็นการฝึกเขียน script และ storyboard เพราะเป็นข้ันตอนต่อไปที่ต้องดำเนินการหลังจากที่แก้ไขแผนการจัดการเรียนรู้แล้ว ทั้งนี้เมื่อขอคำแนะนำจากอาจารย์เกี่ยวกับโครงการที่ทำ อาจารย์ให้คำแนะนำ การพัฒนาชุดฝึกทักษะการออกเสียงนี้ควรออกแบบให้เป็นสื่อเสริมและไม่มีครู เนื่องจากการฝึกในห้องเรียนนั้นมีเวลาจำกัด ผู้เรียนต้องอาศัยการฝึกนอกเวลาเรียน และจำเป็นต้องมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้เรียนสามารถทบทวนความรู้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งคำแนะนำนี้สามารถนำไปปรับใช้กับนักศึกษาในภาคการศึกษาหน้าในรายวิชาที่รับผิดชอบได้จริงอีกด้วย นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง
สิ่งที่ได้จากวิชานี้คือการขยาย comfort zone ของตัวเองด้านเทคโนโลยี ทำให้รู้จักค้นคว้า ทดลองใช้เพื่อนำมาปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปวีณัย 5717650043

Date: 12/10/2014
6th Journal
แม้ว่างดเรียนไป 2 สัปดาห์ แต่อาจารย์ก็มอบหมายงานให้ทำเช่นที่ผ่าน และสัปดาห์นี้คือวันที่ต้องนำเสนองานที่ไปศึกษามา ตามหัวข้อที่ได้รับเป็นกลุ่มที่ 3 ว่าด้วยเรื่องของตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้งนี้เป็นการนำเสนอปากเปล่าไม่ต้องทำสไลด์มาแสดงให้เพื่อนดู สำหรับเรื่องที่เลือกมานำเสนอในวันนี้ คือ From ABC to ICT - Munno Para Primary School ศึกษาเว็บไซต์เพิ่มเติมได้ที่ http://epotential.education.vic.gov.au/showcase/download.php?doc_id=1314 และ Waxing Lyrical ศึกษาเว็บไซต์เพิ่มเติมได้ที่ http://epotential.education.vic.gov.au/showcase/download.php?doc_id=1332
ทั้งสองเรื่องที่เลือกมาเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในลักษณะการเรียนแบบร่วมมือที่ใช้โครงการเป็นฐาน โดยภายหลังที่ผู้เรียนทำโครงการสำเร็จก็อยากต่อยอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้มีความซับซ้อนมากขึ้น นับว่าผู้สอนจัดการเรียนการสอนได้ประสบความสำเร็จเพราะผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง เห็นผลจริง และเกิดแรงจูงใจในการที่จะเรียนรู้ให้มากขึ้น อีกทั้งผลงานที่ทำออกมาก็สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงอีกด้วย
ภายหลังการนำเสนองานแต่ละกลุ่มแล้วอาจารย์ได้บรรยายเกี่ยวกับ คำว่า education และ approach
คำว่า education คือรูปแบบการจัดการศึกษาที่จะต้องครอบคลุมถึงสิ่งต่างๆ ได้แก่ ปรัชญา จิตวิทยา สังคมวิทยา (ในที่นี้หมายถึงชุมชน)
ในการจัดการศึกษานั้นจะต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้
1. สถานศึกษา
2. หน่วยงานองค์กรที่รับผิดชอบจัดการศึกษา (เช่น รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ เขตพื้นที่การศึกษา) 3. หลักสูตร สำหรับหลักสูตรนี้ แบ่งออกเป็น
3.1 หลักสูตรระดับชาติ (ไม่มีเป็นรายวิชา แต่มีกลุ่มรายวิชาที่ทุกโรงเรียนต้องนำไปจัดการเรียนการสอน)
3.2 หลักสูตรสถานศึกษา (บางครั้งขึ้นอยู่กับความต้องการของชุมชน อันนำมาซึ่งการทำ need assessment เพื่อนำสิ่งที่ได้มากำหนดปรัชญาการศึกษา แนวคิด พันธกิจ ของสถานศึกษา)
3.3 หลักสูตรรายวิชา จะสัมพันธ์กันกับหลักสูตรสถานศึกษา
4. คน (ครู บุคลากรทางการศึกษา)
5. ชุมชน สัมพันธ์กับสถานศึกษา
สำหรับคำว่า approach หรือแนวความคิดในการจัดการเรียนการสอนนั้น จะประกอบไปด้วย ทฤษฎีการเรียนการสอน รูปแบบในการจัดการเรียนการสอน ตัวชี้วัด เช่น Project based นั้นสามารถมองให้เป็น project based approach ได้นั่นคือโรงเรียนสามารถนำไปจัดการเรียนการสอนได้ เมื่อนั้นโรงเรียนจะกลายเป็น project based school อันจะก่อให้เกิด alternative curriculum หรือหลักสูตรทางเลือก ดังจะเห็นจากการมีโรงเรียนวิถีพุทธ การเรียนแบบโฮมสคูล ซึ่งหลักสูตรทางเลือกนี้จะแตกต่างจาก traditional curriculum หรือโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแบบเดิม ดังที่เห็นในประเทศไทยส่วนใหญ่ ความแตกต่างอยู่ตรงที่ traditional curriculum ไม่มีเป้าหมายที่ระบุชัดเจนในหลักสูตรระดับสถานศึกษา
นอกจากนี้อาจารย์ยังได้กล่าวถึงการเรียนแบบร่วมมือว่าเป็นหัวใจของการเรียนออนไลน์ การเรียนออนไลน์เป็นหัวใจของการเรียนในยุคหน้า ทั้งนี้การเรียนอาจเป็นในรูปแบบการเรียนจากแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้บนอินเตอร์เน็ต (web-resource based learning) และต้องมีทักษะอีกหนึ่งอย่างคือความสามารถในการค้นหาและวิเคราะห์เลือกใช้สิ่งที่ค้นหามาได้ (ICT Literacy) ซึ่งคนยุคหน้าต้องใช้ความรู้ที่แสวงหาเองไปทำงาน คนยุคหน้าต้องมีความคิดสร้างสรรค์และคิดวิเคราะห์ในขั้นสูงได้
ในภาคบ่ายอาจารย์พูดเกี่ยวกับ Personal Project เริ่มจากบทเรียน บทเรียนคือการสอนผ่านเนื้อหา กิจกรรม แบบฝึกหัด แบบทดสอบ ที่ต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับแบบฝึกหัดน้ั้นต้องมีการตรวจคำตอบ หรือให้ feedback ในทันที อันเป็นลักษณะเฉพาะของเทคโนโลยี
การทำบทเรียนต้อง 1. บอกจำนวนหน่วยเนื้อหา (ใน 1 หน่วยจะใหญ่เล็กเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่ตั้งขึ้นมา) 2.แบ่งเนื้อหาว่าจะใช้เวลาสอนกี่คาบ 3.เลือกว่าจะเอาวัตถุประสงค์มาทำกี่ข้อ และที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงความรู้เดิมของผู้เรียนด้วย
การทำ e-book คือเนื้อหาที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ไว้สำหรับอ่านอย่างเดียว ซึ่งควรเป็น living book คือมีการเคลื่อนไหว มีเสียงประกอบ
การทำ courseware จะเกี่ยวกับการเรียนการสอน จัดตัวอย่างกิจกรรม มีการทดสอบย่อย ทดสอบจริง และประเมินผล
การทำชุดกิจกรรม ชุดฝึกทักษะ เป็นสื่อการสอนที่ต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ต้องกำหนดว่าเป็นสื่อในระบบหรือนอกระบบ
จากนั้นเวลาที่เหลือช่วงสุดท้ายอาจารย์ให้เขียนแผนการจัดการเรียนรู้จากเรื่องที่แต่ละคนต้องการทำ เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป
ปวีณัย 5717650043

Date: 21/09/2014
5th Journal
ในวันนี้เรียนเกี่ยวกับความแตกต่างของ assessment และ evaluation
- Assessment หมายถึง กระบวนการของการรวบรวมข้อมูลให้เป็นระเบียบเพื่อเป็นแนวทางสำหรับนำไปสู่การตัดสินใจในขั้นประมวลผล
- Evaluation หมายถึง การตัดสินคุณค่าของสิ่งใด สิ่งหนึ่ง อย่างมีหลักเกณฑ์ เป็นกระบวนการในการตัดสินใจ โดยใช้ข้อมูลจาก Assessment
ตารางสรุปความแตกต่าง
มิติความแตกต่าง
|
Assessment
|
Evaluation
|
เวลา
|
Formative: กระทำในช่วงระหว่างการดำเนินการเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
|
Summative: กระทำเมื่อสิ้นสุดการดำเนินการเพื่อตัดสินคุณภาพ
|
การวัด
|
Process-oriented: เน้นกระบวนการในการเรียนรู้
|
Product-oriented: เน้นสิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้/ผลการเรียนรู้
|
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน
|
Reflective: กำหนดเกณฑ์และจุดมุ่งหมาย สะท้อนตัวผู้เรียน
|
Prescriptive: กำหนด ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ตั้งไว้
|
การวินิจฉัย
|
Diagnostic: ระบุข้อบกพร่องเพื่อการปรับปรุง
|
Judgmental: ตัดสินผล เกรดรวม คะแนน
|
รูปแบบการวัด
|
Flexible: ปรับเปลี่ยนเพื่อจัดการกับปัญหา
|
Fixed: เข้มงวด ให้รางวัลผู้สำเร็จ ลงโทษผู้ที่ไม่ผ่านการประเมิน
|
มาตรฐานการวัด
|
Absolute: มุ่งมั่นเพื่อผลลัพธ์ที่ดีในทางอุดมคติ
|
Comparative: จำแนกกลุ่มเก่งกับกลุ่มอ่อน
|
วัตถุประสงค์
|
Cooperative: เรียนรู้ซึ่งกันและกัน
|
Competitive: แข่งขันเพื่อหาผู้ที่ดีเลิศ
|
ที่มา : H. Stephen Straight: Vice Provost for Undergraduate Education, Binghamton
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก http://curriculum-by-keerati.blogspot.com/2013/03/blog-post_734.htmlงานฝึกปฏิบัติในห้อง คือ การใชัโปรแกรม Hot Potatoes ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับสร้างแบบฝึก หรือแบบฝึกหัด โปรแกรมนี้สามารถสร้างแบบฝึกหัดได้ทั้งสิ้น 6 ลักษณะ ดังนี้
1. JQuiz เป็นโปรแกรมสำหรับสร้างแบบทดสอบแบบเลือกคำตอบที่ถูก
2. JCross เป็นโปรแกรมสำหรับสร้างแบบทดสอบแบบอักษรไขว้
3. JMix เป็นโปรแกรมสำหรับสร้างแบบทดสอบแบบเรียบเรียงประโยค
4. JMatch เป็นโปรแกรมสำหรับสร้างแบบทดสอบแบบการจับคู่
5. JCloze เป็นโปรแกรมสำหรับสร้างแบบทดสอบแบบเติมคำลงในช่องว่าง
6. The Masher เป็นโปรแกรมสำหรับสร้างหน้าดัชนี (index)
ในวันนี้ได้ฝึกสร้างแบบฝึกหัด 2 ลักษณะคือ JCloze และJCross โดยเนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนผ่านมา
สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและวิธีการดาวน์โหลดโปรแกรมได้ที่ https://krudoremon.files.wordpress.com/2013/10/hot_potatoes.pdf
งานเดี่ยว งานที่ส่งไปได้เกิดความผิดพลาดคือ ทำในสิ่งที่อาจารย์ไม่ให้ทำ (ใส่ flowchart ลงไปในงาน) ครั้งนี้จึงต้องแก้ไขในส่วนนี้ พร้อมทั้งตัดเนื้อหาจากหัวข้อหลักการและเหตุผลออกด้วยเนื่องจากยาวเกินไป จากนั้นให้เพิ่มเติมในส่วนของการกำหนดต้นแบบ
งานกลุ่ม ครั้งนี้เป็นงานกลุ่มครั้งสุดท้าย หัวข้อที่ได้รับผิดชอบคือ Technology-Based C&I: Examples – Showcase ซึ่งสมาชิกในกลุ่มก็ได้ประชุมเกี่ยวกับหัวข้อที่ได้รับ โดยจะแยกย้ายกันไปศึกษาข้อมูลก่อนแล้วนัดหมายกันเพื่อนำข้อมูลที่ีแต่ละคนมีมาอภิปรายกันอีกครั้ง
ปวีณัย บุญปก 5717650043

Date: 7 /09/2014
4th Journal
สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ 4 แล้ว ซึ่งในช่วงเช้าอาจารย์ติดประชุมทำให้ไม่สามารถมาสอนได้ ทั้งนี้อาจารย์ได้มอบหมายให้ช่วยกันดูงานแต่ละกลุ่มที่ช่วยกันทำมา เพื่อเตรียมตอบคำถามของอาจารย์
ในช่วงบ่ายทั้งๆที่ยังประชุมไม่เสร็จ อาจารย์ท่านก็เมตตามาพบพวกเรา โดยได้มีการพูดถึงคลิปวีดีโอที่แต่ละคนได้ทำขึ้นมาซึ่งก็มีหลากหลายรูปแบบ บางคนก็มีการใส่เพลง ใส่ลูกเล่นต่างๆ บางคนก็ไม่มีลูกเล่น เช่น งานของดิฉันเป็นต้น คลิปที่ทำไม่มีการตัดต่อและก็อัดในระยะไกลมาก ทำให้เห็นคนพูดเล็กนิดเดียว ทั้งนี้คลิปเหล่านี้อาจารย์ได้จัดการประกวด โดยมีเกณฑ์ว่า ต้องสั้น กระชับ และเห็นหน้าชัดเจน ทำให้คลิปของดิฉันตกรอบไปเป็นคนแรกในทันที
การฝึกปฏิบัติในวันนี้เป็นการฝึกทำคลิปจากโปรแกรมสำเร็จรูป animoto ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.animoto.com คลิปที่สร้างขึ้นมามีความยาวประมาณ 30 วินาที โดยเริ่มจากการเลือกพื้นหลังที่ต้องการ จากนั้นเลือกเอารูปภาพ หรือ คลิป ในเข้าไปในโปรแกรม ซึ่งโปรแกรมจะบอกว่าข้อมูลที่เราเลือกลงไปนั้นจะทำให้คลิปมีความยาวกี่วินาแล้ว เมื่อเราเลือกรูปภาพและคลิปจนได้ความยาวรวมประมาณ 30 วินาทีแล้วก็จะมีปุ่มให้ลองเล่นคลิป ซึ่งคลิปที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาอาจารย์ให้อัพโหลดขึ้นบน blog ส่วนตัวนี่้
นอกจากนี้ ยังได้ฝึกปฏิบัติต่อจากสัปดาห์ก่อนที่ผ่านมา คือการสร้างเว็บไซต์ โดยเป็นการฝึกใส่
คลิป หรือรูปภาพ และเสียงเพลงใส่ลงไปในหน้าเว็บไซต์ แต่เนื่องจากคอมส่วนตัวที่นำเป็นเครื่องใหม่ประกอบกับเป็นคนที่ไม่ค่อยฟังเพลง หรือโหลดคลิปต่างๆเก็บไว้ จึงทำให้ดิฉันเกิดความล่าช้าในการฝึกปฏิบัติครั้งนี้เพราะต้องโหลดเพลงและหารูปภาพมาใส่ในหน้าเว็บไซต์ แต่ทุกอย่่างก็ผ่านไปด้วยดีเพราะได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนที่พยายามให้พวกเราเรียนไปได้พร้อมๆกัน จึงขอขอบคุณเพื่อนๆ มา ณ โอกาสนี้ค่ะ
เรื่องสุดท้ายที่เรียนในสัปดาห์นี้คือ การติดตั้งโปรแกรม VPN เพื่อให้สามารถใช้เครือข่ายของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ไม่ว่าเราทำงานอยู่ที่ใดก็ตาม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งยังสามารถใช้ฐานข้อมูลต่างๆของทางมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย เช่น ฐานข้อมูลที่ทางมหาลัยสมัครสมาชิกไว้เพื่อให้นิสิตได้ใช้เป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ในศาสตร์ต่างๆ
ข่าวประกาศจากอาจารย์ สัปดาห์หน้างดการเรียนการสอนเนื่องจากจะมีการซ้อมรับพระราชทานปริญญาบัตรของคณะศึกษาศาสตร์ ทั้งนี้งานที่กลุ่มที่ต้องทำก็ให้ดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน เช่นเดียวกับงาน project
สำหรับงาน project นี้ ส่วนที่ต้องแก้ไขคือ เรื่องหลักการและเหตุผลที่เขียนยาวเกินไป อาจารย์ให้เรียบเรียงใหม่ให้กระชับ
ปวีณัย บุญปก 5717650043

Date: 31/08/2014
3rd Journal
การเรียนครั้งนี้เรียนอาจารย์พูดถึงเรื่องอีเมล์ว่า การใช้ gmail จะสามารถใช้โปรแกรม hangout ได้ คือการคุยออนไลน์ แบบเห็นหน้า เป็นการแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีให้เลือกใช้เยอะ สามารถทำ meeting online ได้ ซึ่งพวกเราก็ได้ทดลองใช้กันเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และเห็นข้อดีของเทคโนโลยีว่าทำให้เราช่วยเรียนได้ แม้ว่าจะอยู่ต่างที่ ต่างเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามปัญหาทางเทคโนโลยีอาจเกิดขึ้นจากอุปกรณ์ของเรา เช่น คอมพิวเตอร์หรือกล้อง แต่ก็อาจเกิดจากเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น โปรแกรมต่างๆ เน็ตเวิร์ก เป็นต้น จะเห็นได้ว่าในขณะที่เทคโนโลยีมีประโยชน์มากมายบางครั้งก็อาจเกิดปัญหาได้เช่นกัน
นอกจากนี้อาจารย์ยังได้กล่าวถึงหลักการค้นคว้าเพื่อทำงานกลุ่มว่า
1.เมื่อได้หัวข้อมาต้องหา link อื่นเพิ่มเติมโดยต้องวางประเด็นก่อน เว็บไซต์ที่อาจารย์ให้มานั้นเป็นเพียงประตูที่เปิดเข้าไปสู่รายละเอียดของเนื้อหาในเรื่องนั้น การศึกษาจากเว็บไซต์เท่าที่กำหนดให้จึงไม่เพียงพอ เพราะยิ่งศึกษามากขึ้นจะพบรายละเอียดหรือเนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
2.ในหัวข้อหรือเนื้อเรื่องที่แต่ละคนรับผิดชอบ หากไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวกับเรื่องน้้นๆ อาจหาข้อมูลเป็นภาษาไทยก่อนเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานและได้แนวคิดต่างๆจากเรื่องที่ต้องทำ และเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับหัวข้อว่าจะหาเรื่องใดก่อน อย่างไรก็ตามในงานครั้งต่อๆไปเว็บไซต์ที่เลือกมาอ้างอิงจะต้องเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ
3.ต้องหมั่นวิเคราะห์ว่าความรู้ไหนเชื่อมโยงกับอะไร และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เพราะคำศัพท์ทางการศึกษาที่มีการบัญญัติขึ้นไม่ว่าจะในภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษที่มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อย หากศึกษาลงไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างกันมาก
4.ต้อง click link เข้าไปดูด้วยว่าที่เพื่อนในกลุ่มทำมานั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งอาจารย์พยายามให้เราเกิดทักษะการเรียนรู้แบบร่วมมือ ไม่ใช่ว่าทำงานส่วนของตัวเองเสร็จก็พอ แต่ต้องช่วยเหลือกัน เดินหน้าไปพร้อมกันทั้งกลุ่ม อีกทั้งยังเป็นการศึกษาความรู้เพิ่มเติมจากสิ่งที่เราไม่ได้ศึกษาผ่านการนำเสนอผลงานของสมาชิกในกลุ่มอีกด้วย
อาจารย์ได้พูดถึงการพัฒนาทักษะอังกฤษว่า วิธีการง่ายๆ คือต้องอัดวีดีโอตัวเอง อัดเสียงตัวเอง เพื่อนำมาเปิดดูตัวเอง จะได้เห็นการพูดของตัวเอง จากนั้นก็ฝึกฝน แก้ไขข้อบกพร่อง และพัฒนาทักษะของตนเองได้ ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆจากมือถือ เพราะเป็นยุค visual แล้ว
สำหรับงานประจำสัปดาห์ อาจารย์ให้อัดคลิปแนะนำตัวเพื่อนำมาลงในเว็บไซต์ที่กำลังสร้างอยู่ ให้นัดเวลาเพื่อคุยโปรเจ็คส่วนตัว และให้เริ่มทำงานกลุ่มชิ้นที่ 2
ปวีณัย บุญปก 5717650043

Date: 24/08/2014
2nd Journal
สัปดาห์ที่ 2 ของการเรียนวิชานี้ เป็นการเรียนเรื่อง HTML Programming for Teacher อาจารย์ได้อธิบายความแตกต่างของ web 1.0 และ web 2.0 ซึ่งสรุปความได้ว่า
1. web 1.0 เป็นแบบดั้งเดิม ต้องส่งข้อมูลผ่าน server โดยต้องมีพื้นที่เก็บงานเพื่อแสดงเป็นเว็บ ทั้งนี้ต้องทำข้อมูลให้เสร็จก่อนที่จะ upload โดยอาจใช้ HTML, photoimpact, dreamweaver เป็นต้น
การทำเว็บที่ดีนั้น จะต้องมีภาพที่สวย ตัวหนังสือคมชัด และจัดหน้าจอแบบมืออาชีพ
2. web 2.0 ช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการสร้างเว็บมากขึ้น เนื่องจากมีผู้จัด file (application service) ไว้ให้แล้ว ซึ่งไม่ต้อง upload file ทำให้เกิดเว็บไซต์ที่หรูหรา ทำ flash ได้
ในวันนี้อาจารย์ได้ฝึกให้สร้างเว็บไซต์ของตัวเอง โดยการป้อนคำสั่ง HTML ลงบน notepad โดยคำสั่งที่เขียนขึ้นมาจะต้องอาศัยความรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้ามีการสะกดผิดหรือแม้แต่การใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ตัวพิมพ์เล็กผิดก็จะส่งผลต่อเว็บที่สร้างทันที มีการฝึกแบ่งพื้นที่บนเว็บไซต์ และใช้ photoimpact ในการตกแต่งรูปภาพ
นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับ LMS- M@XLEARN (LMS มาจาก Learning Management System) ซึ่งก็คือโปรแกรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างอาจารย์และนิสิต เพื่อเป็นการฝึกให้นิสิตคุ้นเคยกับการใช้โปรแกรมนี้ อาจารย์จึงได้สั่งงาน และแนะนำเว็บไซต์ทีเกี่ยวข้องไว้บน M@XLEARN และนิสิตต้องเข้าไปส่งงานและติดต่ออาจารย์ผ่านโปรแกรมนี้ นอกจากทาง blog และ facebook ด้วย โดยงานในครั้งนี้อาจารย์แบ่งกลุ่มให้ใหม่ สมาชิกจะแตกต่างจากการทำ pre-study ซึ่งดิฉันอยู่กลุ่มที่ 2 ได้รับหัวข้อ M- Learning และ U-Learning
การที่ต้องเรียนรู้วิธีการสื่อสารหลากหลายช่องทางก็เพื่อเป็นการเรียนรู้ว่าเราสามารถใช้ช่องทางต่างๆทางเทคโนโลยีเพื่อติดต่อสื่อสารได้โดยช่องทางใดบ้าง การรู้หลายช่องๆทางเป็นประโยชน์ในแง่ที่ว่าบางครั้งเราไม่สามารถเลือกใช้ช่องทางที่เราใช้อยู่เป็นประจำได้ ก็จะสามารถเลือกใช้ช่องทางอื่นได้แม้ว่าบางครั้งอาจไม่สะดวกเท่ากับช่องทางที่เราคุ้นเคย
ไฮไลน์ของการเรียนในวันนี้คือการถ่ายรูป ทั้งถ่ายรูปเดี่ยวและรูปหมู่ ซึ่งคาดว่าจะได้นำมาใช้บนเว็บไซต์ที่สร้างไว้ในคราวต่อไป การถ่ายรูปเป็นไปอย่างสนุกสนานมาก แต่ละคนโพสท่าแบบมืออาชีพยังอายกันเลยทีเดียว
ปวีณัย บุญปก 5717650043

Date: 17/08/2014
1st Journal
วันแรกกับการเรียน ป.เอก ผ่านพ้นไปแล้ว วิชาที่เรียนคือ 01162661 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางหลักสูตรและการสอน อาจารย์ผู้สอนคือ รศ.ดร.มธุรส จงชัยกิจ อาจารย์สอนให้สร้าง blog ของตัวเองเพื่อจะได้ส่งงานและรายงานความก้าวหน้าของ project ที่จะทำ นอกจากนี้ blog นี้จะเป็น e-portfolio สำหรับรายวิชานี้อีกด้วย ความจริงการสร้าง blog ไม่ยาก แต่เนื่องจากตัวเองมีพื้นฐานด้านนี้น้อยจึงทำให้เสียเวลาไปมาก
ประโยชน์ที่ได้จากการสร้าง blog ที่นำไปใช้ในการสอน ใช้เป็นช่องทางการสื่อสาร หรือรวบรวมข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชานั้นๆ
ในสัปดาห์นี้อาจารย์ได้มอบหมายงานให้ ทั้งงานเดี่ยวและงานกลุ่ม งานเดี่ยวเป็นการหาตัวอย่างโครงการและผลงานการประยุกต์ใช้ ICT ทางหลักสูตรและการสอน แล้วนำเสนอด้วย URLs บน Wegblog ส่วนบุคคล งานที่หาในส่วนนี้หลังจากที่ศึกษารายละเอียดแล้วจะต้องตัดสินใจ Final Project ที่เราต้องการทำนั้นจะเป็นไปในทิศทางไหน ซึ่งแนวทางก็มาจากเว็บไซต์ที่เราศึกษามานั้นเอง
ส่วนงานกลุ่มเป็นการอ่านศึกษาค้นคว้าเป็นรายบุคคลเพื่อนำมา อภิปรายบน Facebook ร่วมกัน ก่อนทึ่จะจัดทำรายงานสรุปส่งอาจารย์ การทำงานเป็นกลุ่มนี้ในแต่ละครั้งตลอดภาคการศึกษา จะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนสมาชิกในกลุ่มไปเรื่อย ข้อดีคือทำให้เราได้ร่วมงานกับคนอื่นๆที่หลากหลาย ได้มีโอกาสทำความรู้จักกันมากขึ้น อันเป็นลักษณะของการเรียนรู้แบบร่วมมือ
นับว่าเป็นการเรียนที่เข้มข้นมากทีเดียว
ปวีณัย บุญปก 5715650043

No comments:
Post a Comment